วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดาวแปลกพวกสีน้ำเงินในใจกลางทางช้างเผือก

 
นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นพบดาวแปลกพวกสีน้ำเงินอยู่บริเวณใจกลางดาราจักรทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก
          ดาวฤกษ์ประเภทที่เรียกว่า "ดาวแปลกพวกสีน้ำเงิน" (blue straggler) มีชื่อพิลึกเช่นนี้เนื่องจากสมบัติที่ทำให้ดูเหมือนอายุน้อย ต่างจากดาวดวงอื่น  ที่กำเนิดมาพร้อม  กัน บางครั้งจึงมองได้ว่าเป็น "ดาวนอกคอก" นักดาราศาสตร์พบดาวประเภทนี้มาแล้วตามกระจุกดาวทรงกลมหลายแห่ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบบริเวณใกล้แก่นของดาราจักรทางช้างเผือก


          ต้นกำเนิดของดาวแปลกพวกสีน้ำเงินยังไม่ทราบแน่ชัด ทฤษฎีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอธิบายว่า ดาวประเภทนี้เกิดมาจากดาวคู่ เมื่อสมาชิกของดาวคู่ที่มวลมากกว่าวิวัฒน์นำหน้าดวงที่มวลต่ำกว่าและเริ่มขยายออก จะถ่ายเทมวลบางส่วนไปให้ดวงที่มวลต่ำกว่า กระบวนการนี้ ได้เติมเชื้อเพลิงและทำให้ดาวที่กำลังใหญ่ขึ้นเร่งปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ดาวจึงร้อนขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเหมือนกับดาวอายุน้อยมวลสูง
          การค้นพบนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าดุมกลางของทางช้างเผือกไม่มีการสร้างดาวดวงใหม่มาเป็นเวลาหลายพันล้านปีแล้ว ปัจจุบันบริเวณนี้คือชุมชนดาวชราเช่นดาวคล้ายดวงอาทิตย์ที่อายุมากและดาวแคระแดง ส่วนดาวยักษ์สีน้ำเงินที่เคยอยู่บริเวณนี้ได้วิวัฒน์ไปเป็นซูเปอร์โนวาและดับสูญไปนานแล้ว
          การค้นพบครั้งนี้เกิดจากโครงการสำรวจชื่อ สวีปส์ (SWEEPS--Sagittarius Window Eclipsing Extrasolar Planet Search) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีวงโคจรแคบที่โคจรรอบดาวฤกษ์บริเวณดุมดาราจักรทางช้างเผือก การสำรวจที่ดำเนินการในปี 2549 นี้ได้สำรวจดาวฤกษ์กว่า 180,000 ดวง และได้พบว่ามีดาวฤกษ์ 42 ดวงที่มีอุณหภูมิและความสว่างมากกว่าดาวดวงอื่นในละแวกเดียวกันอยู่มาก
          นักดาราศาสตร์ได้เคยสันนิษฐานมานานแล้วว่าเป็นไปได้ที่จะมีดาวแปลกพวกสีน้ำเงินอยู่ในดุมดาราจักร แต่ไม่เคยมีการตรวจพบจริง  มาก่อน ดาวเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อมองจากโลกจะต้องมองฝ่าจานดาราจักรอันหนาทึบเข้าไปถึง 30,000 ปีแสง ทำให้การจำแนกดาวทำได้ยากมาก
          ดาวฤกษ์สีน้ำเงินในดุมทางช้างเผือกที่พบในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 42 ดวง อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบประมาณว่า ดาวที่เป็นประเภทดาวแปลกพวกสีน้ำเงินแท้  น่าจะมีประมาณ 18-37 ดวง นอกนั้นอาจเป็นดาวอายุน้อยจริง  หรือไม่ก็เป็นดาวที่ไม่ได้อยู่บริเวณใจกลางดาราจักร เพียงแต่ขวางอยู่ด้านหน้าเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น